คุณเสี่ยง ภาวะหัวใจวายอยู่รึเปล่า?
เมื่อพูดถึงภาวะหัวใจวาย หลายคนเข้าใจว่าคืออาการหัวใจหยุดเต้น แต่แท้จริงแล้ว ภาวะหัวใจวาย เป็นภาวะที่หัวใจอ่อนแอ ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอ ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวพื้นฐานที่ก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
สาเหตุภาวะหัวใจวาย
- สาเหตุจากหัวใจ
- อาการช็อกและหมดสติกระทันหัน เนื่องจากเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งเป็นสาเหตุภาวะหัวใจวายที่พบบ่อยที่สุด
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ติดเชื้อ
- โรคลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ
- ไม่ใช่สาเหตุจากหัวใจ
- โรคอื่นๆ ที่สัมพันธ์ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวานและโรคไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ทั้งสิ้น
อาการของผู้ที่เป็นภาวะหัวใจวาย
- อ่อนเพลีย หอบเหนื่อย
- ขาบวม
- แน่นหน้าอกตอนกลางคืน นอนราบไม่ได้ ลุกมาไอตอนกลางคืน
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
การวินิจฉัยภาวะหัวใจวาย
- ซักประวัติคนไข้ ว่ามีอาการเหนื่อย นอนราบไม่ได้ หรือนอนแล้วต้องลุกขึ้นหายใจ และไอตอนกลางคืน รวมถึงมีอาการขาบวม หรือไม่
- ทำการตรวจร่างกาย
- ตรวจเส้นเลือดที่คอว่าโป่ง หรือไม่
- ตรวจเสียงหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ตรวจภาวะน้ำท่วมปอด โดยฟังเสียงถ้ามีเสียง ก๊อบแก๊บ แสดงว่ามีน้ำในปอด
- ตรวจกราฟไฟฟ้าหัวใจ เพื่อดูว่า มีเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน หัวใจโต หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ จากนั้นทำการเอ็กซเรย์ปอด เพื่อดูฝ้าขาว และน้ำในปอด จากนั้นจะทำการตรวจเพิ่มเติมโดยการอัลตร้าซาวด์หัวใจ (echocardiography) เพื่อดูการบีบตัวของหัวใจ และตรวจดูว่ามีลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่วหรือไม่ ซึ่งการตรวจเหล่านี้จะทำให้ทราบสาเหตุที่ทำให้คนไข้มีภาวะหัวใจวาย แนวทางการรักษา
แนวทางการรักษา
- การรักษาด้วยการใช้ยา
- ยากลุ่มที่ 1 ยาขับปัสสาวะ สำหรับคนไข้ที่มาด้วยอาการหอบ เหนื่อย เพื่อช่วยลดบวม ลดน้ำในปอด
- ยากลุ่มที่ 2 ยากลุ่ม Beta blocker เป็นยาช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ไม่ให้หัวใจทำงานหนักจนเกินไป
- ยากลุ่มที่ 3 กลุ่มยาที่ช่วยบล็อคฮอร์โมนที่ไปทำลายหัวใจ
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- ไม่รับประทานเค็ม ดื่มน้ำให้น้อย งดแอลกอฮอล์ และหมั่นดูแลตัวเอง
- การฝังเครื่องมือเข้าไปที่หน้าอก โดยตัวสายจะอยู่ทางด้านซ้ายและขวาของหัวใจ เพื่อช่วยให้หัวใจสามารถบีบตัวได้ดีขึ้น ซึ่งภายในเครื่องจะมีเครื่องกระตุกหัวใจร่วมอยู่ด้วย เพื่อช่วยชีวิตคนไข้ภาวะหัวใจวายและมีโอกาสหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หากได้รับการรักษาแล้วไม่ดีขึ้น คนไข้อาจต้องอยู่ในรายชื่อ (Waiting list) เพื่อรอการทำปลูกถ่ายหัวใจใหม่ (Heart Transplant) แต่แพทย์ส่วนใหญ่มักแนะนำเป็นกรณีสุดท้าย เพราะการหาหัวใจใหม่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และเป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงสูง
การป้องกันเบื้องต้น
- ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ
- สำรวจตนเองว่ามีอาการน่าสงสัย เช่น เหนื่อยง่าย ขาบวม แน่นหน้าอก และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยการออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงและรสเค็มจัด เลิกสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอดี
- รักษาโรคที่เป็นสาเหตุภาวะหัวใจวาย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และไทรอยด์เป็นพิษ
แม้ภาวะหัวใจวายนั้นน่ากลัวและสามารถคร่าชีวิตผู้ป่วยได้ แต่ภาวะหัวใจวายก็สามารถป้องกันและรักษาได้ หากทุกคนตระหนักและใส่ใจตัวเอง ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงเมื่อเกิดความผิดปกติกับร่างกายควรรีบพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและรักษาได้ทันท่วงที
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด
ชั้น 4 อาคาร C โทร 038-320300 ต่อ 4170-1