ไข้เลือดออก

  “โรคไข้เลือดออก” ในประเทศไทยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า ไข้เลือดออกเดงกี แต่มักเรียกทั่วไปว่า “ไข้เลือดออก”  เชื้อไวรัสเดงกีมี 4 ชนิดคือ เดงกี-1, เดงกี-2, เดงกี-3 และเดงกี-4 ทำให้คนเรามีโอกาสที่จะป่วยจากโรคไข้เลือดออกได้หลายครั้ง

 

อาการที่สำคัญของโรคไข้เลือดออก 

 

  • อาการไข้สูงลอย
  • หน้าแดง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดท้อง
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดศีรษะและอาจมีภาวะเลือดออกร่วมด้วย

 

       เป็นที่น่าสังเกตว่าอายุของผู้ป่วยไข้เลือดออกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเดิมที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เปลี่ยนเป็นเด็กโต วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อย ทำให้ภาพรวมของโรคไข้เลือดออกดูราวกับจะทวีความรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยไข้เลือดออกมักเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงดีมาก่อน และในบางคนก็อาจมีอาการรุนแรง บางคนเกิดภาวะช็อกและถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีการรั่วของพลาสม่าจำนวนมากหรือมีภาวะเลือดออกอย่างรุนแรง

 

     ในอดีตการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกทำได้โดยหลีกเลี่ยงการถูกยุงลายกัด การปราบยุงลาย และการกำจัดลูกน้ำยุงลาย แต่ในปัจจุบัน “วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก” คือทางออกที่สำคัญ ซึ่งทุกฝ่ายต่างรอคอยมาเป็นเวลานาน

 

         วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก (DENGVAXIA) เป็นวัคซีนที่ใช้สำหรับป้องกันโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่สายพันธุ์ 1, 2, 3 และ 4  วัคซีนนี้แนะนำฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปี ถึงผู้ที่มีอายุ 45 ปี ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค (เช่น ประเทศไทย) โดยการฉีดวัคซีนจำนวน 3 เข็ม (ที่ 0,6,12 เดือน) พบว่าสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 65.6% ลดการนอนโรงพยาบาลจากโรคไข้เลือดออกได้ถึง 80% และยิ่งไปกว่านั้นสามารถลดการเกิดโรคไข้เลือดออกที่มีความรุนแรงได้ 93.2% โดยวัคซีนมีความปลอดภัยสูง ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรงหลังได้รับวัคซีน องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้มีการแนะนำให้เริ่มใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

 

ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ

ชั้น 2 อาคาร E โทร 038-320300 ต่อ 3105-7