5 สุดยอดอาหารอร่อย แต่เสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
1.เนื้อย่างวากิว หมูคุโรบุตะย่าง
ยิ่งติดมันยิ่งอร่อย อาหารยอดนิยม เมนูนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะนอกจากจะมีไขมันอิ่มตัวสูงแล้ว เนื้อวัวและเนื้อหมูยังเป็นสัตว์เนื้อแดงที่มีสารประกอบฮีโมโกลบิน ที่เรียกว่าฮีม (heme) หากรับประทานมากจะไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เติบโต รวมถึงการปิ้งย่างยังเป็นวิธีปรุงสุกโดยมีไขมันหยดลงบนถ่านจนเกิดควัน ทำให้เกิดสารโพลีไซคลิก อโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons- PAH) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง หากรับประทานบ่อยๆ จะสะสมอยู่ในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายเกิดการอักเสบเรื้อรัง จนกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในที่สุด หากเป็นเมนูโปรดจริงๆ หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมทิ้งก่อนรับประทาน อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานในปริมาณมากและบ่อยจนเกินไป
2.ส้มตำปูปลาร้า
รสจัดจ้านหอมอ่อนๆ ชวนน้ำลายสอ แต่เครื่องปรุงทั้งหลายสุ่มเสี่ยงสารก่อมะเร็งทั้งสิ้น ทั้งพริกแห้ง กระเทียมที่ขึ้นราง่าย รวมถึงปูเค็มและปลาร้า หากไม่ปรุงให้สุกอาจมีพยาธิใบไม้หรือไข่ของพยาธิที่สามารถมีชีวิตในร่างกายมนุษย์ เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งตับ ที่สำคัญยังพบด้วยว่าในปลาร้าอาจจะมีการใส่ดินประสิวเพื่อใช้ในการถนอมอาหาร ดินประสิวนี้จะมีสารไนโตรซามิน ซึ่งถือว่าเป็นสารก่อมะเร็งที่มีความรุนแรง ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะรับประทานปลาร้าดิบๆ เพราะจะเป็นการเพิ่มอัตราความเสี่ยงที่จะได้รับสารดังกล่าว
3.อาหารทะเลดิบกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ด
อาหารทะเลสดมักปนเปื้อนสารฟอร์มาลินจากการเก็บรักษา หากร่างกายได้รับสารฟอร์มาลินจนเกิดการสะสม จะส่งผลเสียกับระบบการทำงานของตับ ไต และหัวใจ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารทะเลดิบๆ ยังเสี่ยงต่อการได้รับสารโลหะหนัก เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้ ซึ่งสารโลหะหนักพบมากในปลาทูน่า ปลาแมคคอเรล ทางที่ดีควรเลือกรับประทานอาหารทะเลที่มีโลหะหนักสะสมน้อย เช่น ปลาแซลม่อน หรือกุ้ง และควรผ่านการปรุงสุกด้วยการต้มหรือนึ่ง หลีกเลี่ยงการปิ้งย่างจนไหม้เกรียม ไม่ว่าจะปรุงสุกหรือทานดิบ สิ่งหนึ่งที่ควรรู้คืออาหารทะเลสามารถเพิ่มโลหะหนักได้
4.สารพัดยำ ยำแหนม ยำไส้กรอก ยำมาม่า
อาหารรสแซบที่ขายตามท้องตลาด ขวัญใจคนลดความอ้วน ด้วยคิดว่าไม่ต้องรับประทานกับข้าวก็อิ่มได้ แต่การสั่งยำโดยมีพระเอกเป็นอาหารแปรรูปทั้งหลายนั้นกลับเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมากขึ้น องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบหลักฐานยืนยันว่า เนื้อสัตว์แปรรูป โดยการรมควัน อาหารหมักดอง รวมถึงการถนอมอาหารแบบต่างๆ มีโอกาสปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื่องจากอาหารแปรรูปทั้งหลายเต็มไปด้วยสารกันบูด แต่งกลิ่น ใส่สี ให้ดูสดใหม่และน่ารับประทาน อีกทั้งยังมีโซเดียมไนเตรทและโซเดียมไนไตรท์ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากอยากรับประทานยำ อาจเลือกเป็นยำผลไม้ไม่เค็ม ไม่ใส่กระเทียม ไม่ใส่ถั่วลิสงคั่ว แม้ไม่แซบนัว แต่ก็ช่วยลดโอกาสเสี่ยงโรคร้ายลงได้บ้าง
5.กล้วยทอด ปาท่องโก๋ ไก่ทอดร้อยกระทะ
ของทอดกรอบๆ มันๆ ทำให้หลายคนอดใจไม่ไหว มักซื้อติดมือไปวางข้างคอมพิวเตอร์เป็นเพื่อนทำงานยามบ่าย แต่เพื่อนยากถุงนั้นอาจกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเซลล์มะเร็งได้ จากการใช้น้ำมันทอดในอุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเมื่อใช้น้ำมันทอดซ้ำหลายครั้ง ทำเกิดสารโพลีไซคลิก อโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons- PAH) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง หากรับประทานบ่อยก็จะสะสมอยู่ในร่างกาย พึงเตือนตัวเองเสมอว่าอาหารทอดทำให้ร่างกายสะสมไขมันกลายเป็นความอ้วน และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ควรรับประทานแต่น้อยหรือหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด หากอดใจไม่ได้ให้เลือกซื้อร้านที่เปลี่ยนน้ำมันทอดทุกๆ วัน
“การหมั่นสังเกตอุจจาระของตัวเองทุกวัน” เป็นการคัดกรองอาการป่วยเบื้องต้นแบบง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ อุจจาระที่เป็นลำสวยผิวเรียบคล้ายกล้วยหอม ไม่แข็งหรืออ่อนยุ่ยจนเกินไป ถือว่าเป็นรูปทรงอุจจาระที่สมบูรณ์และสุขภาพดีที่สุด และหากพบว่าอุจจาระมีสี กลิ่น หรือลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย แม้อาหารอร่อยคือความสุขอย่างหนึ่ง แต่หากรับประทานโดยไม่ยั้งคิดอาจกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ในที่สุด การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารสะอาด ปราศจากเชื้อโรคและสารปนเปื้อน รวมถึงใส่ใจวิธีการปรุงสุกที่ได้มาตรฐาน หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง และปรุงแต่งมากเกินไป เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์เฉพาะทางโรคตับ และระบบทางเดินอาหาร
ชั้น 4 อาคาร C
โทร 038-320-300 ต่อ 4400-1
03 มีนาคม 2563
นพ. จิตต์พัฒน์ ถนอมธีระนันท์
ความเชี่ยวชาญ
ระบบทางเดินอาหารและตับ